เมนู

อรรถกถาทานกถา



ว่าด้วย ทาน



บัดนี้ ชื่อว่าเรื่องทาน. ในเรื่องนั้น ชื่อว่าทานมี 3 อย่าง คือ
จาคเจตนา วิรติ ไทยธรรม. ทานชื่อว่า จาคเจตนา มีที่มาในคำว่า ศรัทธา
หิริ และทานที่เป็นกุศล. ทานชื่อว่า วิรติ มีที่มาในคำว่า พระอริยสาวก
ผู้เว้นขาดจากปาณาติบาตแล้ว ย่อมให้อภัยแก่สัตว์ทั้งหลายหาประมาณ
มิได้ วิรติทาน คือ วิรตีเจตสิก 3 อันเป็นเหตุงดเว้นจากอกุศลทุจริตนั้น
ในอัฏฐกนิบาตอังคุตตรนิกายเรียกทานนี้ว่า มหาทานที่ 1. ทานชื่อว่า
ไทยธรรม คือวัตถุอันบุคคลพึงให้ มีที่มาในคำว่า บุคคลย่อมให้ทาน คือ
ข้าวน้ำ เป็นต้น. พึงทราบวินิจฉัยในทานเหล่านี้ต่อไป บุคคลย่อมให้วัตถุ
อันควรให้เพราะจาคเจตนา ฉะนั้นจาคเจตนาจึงชื่อว่า ทาน อีกอย่างหนึ่ง
ชนทั้งหลายย่อมให้วัตถุที่พึงให้ด้วยจาคเจตนานี้ เพราะเหตุนั้น จาคเจตนานี้
จึงชื่อว่าทาน. วิรติ ชื่อว่าทาน เพราะอรรถว่าการตัดหรือเพราะอรรถ
ว่าการทำลาย ซึ่งอกุศลจิต จริงอยู่วิรติทานนั้น เมื่อเกิดขึ้นย่อมตัดหรือ
ทำลายเจตนาอันเป็นเหตุทุศีลที่บัณฑิตนับพร้อมแล้วว่าเป็นผู้มีความกลัวภัย
เป็นต้น. ไทยธรรมอันใด อันเขาย่อมให้เพราะเหตุนั้น ไทยธรรมนั้น จึง
ชื่อว่า ทาน ได้แก่ไทยธรรม คือวัตถุอันบุคคลพึงให้ ทานแม้ทั้ง 3 อย่างมี
ประการยังกล่าวมานี้ เมื่อว่าโดยอรรถก็มีอยู่เพียง 2 อย่าง คือ เจตสิกธรรม
และไทยธรรม.
ในปัญหานั้น ชนเหล่าใดมีความเห็นผิดดุจลัทธิของนิกายราชคิริกะ
และสิทธัตถิกะทั้งหลายว่า เจตสิกธรรมเท่านั้นเป็นทานไทยธรรม คือ

วัตถุอันบุคคลพึงให้ ไม่ใช่ทาน ดังนี้ คำถามสกวาทีว่า ทานคือเจตสิก
เป็นต้น หมายถึงชนเหล่านั้น คำตอบรับรองเป็นของปรวาที. ลำดับนั้น
คำถามของสกวาทีว่า จะให้เจตสิกธรรมแก่คนอื่น ๆ ก็ได้หรือ ดังนี้
เพื่อท้วงปรวาทีนั้นด้วยสามารถแห่งไทยธรรม คำตอบปฏิเสธเป็นของ
ปรวาที เพราะบุคคลนั้นไม่อาจเพื่อให้เจตสิกธรรม เหมือนการให้ข้าวน้ำ
เป็นต้นได้. เมื่อสกวาทีถามปัญหานั้นซ้ำอีก ปรวาทีนั้นนั่นแหละก็ตอบ
รับรองด้วยสามารถแห่งพระสูตรว่า พระอริยสาวกผู้เว้นขาดจากปาณา
ติบาตแล้ว ย่อมให้อภัยแก่สัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้. แต่ในปัญหา
ทั้งหลาย มีปัญหาว่าด้วย ผัสสะ เป็นต้น ปรวาทีเมื่อไม่เห็นโวหารว่า
บุคคลจะให้ผัสสะได้ เป็นต้น จึงตอบปฏิเสธ.
คำว่า ทานมีผลไม่น่าปรารถนา เป็นต้น ท่านกล่าวแล้ว เพื่อ
แสดงซึ่งความที่ธรรมอันมิใช่เจตสิกเป็นทานมีอยู่. จริงอยู่ อเจตสิกทาน
คือ การให้ข้าวน้ำเป็นต้น ย่อมไม่ให้วิบากอันน่าปรารถนาต่อไป แต่คำนี้
บัณฑิตพึงทราบว่า ท่านกล่าวแล้ว เพื่อนิยามในความเป็นอิฏฐผล ได้แก่
นิยาม คือมรรค.
ก็ในคำแม้นี้ อธิบายว่า ผิว่า อเจตสิกทาน คือ การให้ข้าวเป็นต้น
พึงเป็นทานไซร้ ก็เมื่อบุคคลให้เภสัชอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ
ด้วยจิตเกื้อกูลอนุเคราะห์ ผลอันไม่น่าปรารถนานั้นนั่นแหละพึงเกิดขึ้น
ดุจไม้สะเดาเป็นต้นยังผลสะเดาเป็นต้นให้เกิดขึ้นอยู่ แต่ในที่นี้ การให้ด้วย
เจตนาอันเป็นเหตุบริจาคย่อมให้ซึ่งผลอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลเหตุใด
เพราะเหตุนั้น ครั้นเมื่อไทยธรรม คือวัตถุอันบุคคลพึงให้ แม้ไม่น่าปรารถนา
ก็ย่อมชื่อว่าเป็นทานมีผลอันน่าชอบใจทั้งสิ้น ดังนี้. เมื่อปรวาทีตั้งเจตสิกธรรม

เป็นทานอย่างนี้แล้ว สกวาทีจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสว่า ทานมีผลน่าปรารถนา
ดังนี้ เพื่อจะยังไทยธรรมโดยปริยายนี้
ให้สำเร็จความเป็นทาน. แต่ปรวาที เมื่อไม่เห็นความที่จีวรทานเป็นต้น
มีผลอันน่าปรารถนา จึงปฏิเสธ. การชำระพระสูตรย่อมถูกต้องทั้งใน
วาทะของปรวาทีและทั้งในวาทะของสกวาที แต่ย่อมไม่ถูกโดยเนื้อความ
อย่างเดียวกัน.
คำว่า ไทยธรรมมีผลน่าปรารถนา นี้ สกวาทีตอบปฏิเสธสักว่า
ความเป็นอิฏฐผลเท่านั้น เพราะฉะนั้นในคำว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่พึงกล่าว
ว่าทานคือไทยธรรม
นี้ ย่อมไม่ถูก เพราะความที่ไทยธรรมนั้น บุคคล
พึงกล่าวว่าเป็นอิฏฐผลทีเดียว. อนึ่ง ไทยธรรมชื่อว่า ทานนั่นแหละ เพราะ
อรรถว่าอันบุคคลพึงให้. สำหรับเรื่องทานนี้ ท่านกล่าวไว้เพื่อจะปลดเปลื้อง
ความปะปนกันแห่งทานทั้ง 2 เท่านั้น ดังนี้ แล.
อรรถกถาทานกถา จบ

ปริโภคมยปุญญกถา



[1145] สกวาที บุญสำเร็จแต่การบริโภคเจริญได้ หรือ ?
ปรวาที ถูกแล้ว.
ส. ผัสสะสำเร็จแต่การบริโภคเจริญได้หรือ เวทนา
สัญญา เจตนา จิต สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา สำเร็จ
แต่การบริโภคเจริญได้หรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
[1146] ส. บุญสำเร็จแต่การบริโภคเจริญได้ หรือ ?
ป. ถูกแล้ว.
ส. เจริญได้ดุจเครือเถา ดุจเครือเถาย่างทราย ดุจต้นไม้
ดุจหญ้า ดุจแพแห่งหญ้าปล้อง หรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
[1147] ส. บุญสำเร็จแต่การบริโภคเจริญได้ หรือ ?
ป. ถูกแล้ว.
ส. ทายกให้ทานแล้วไม่สนใจก็เป็นบุญได้ หรือ ?
ป. ถูกแล้ว.
ส. เป็นได้แก่ผู้ไม่นึก เป็นได้แก่ผู้ไม่กังวล เป็นได้แก่ผู้ไม่
สนใจ เป็นได้แก่ผู้ไม่กระทำไว้ในใจ เป็นได้แก่ผู้ไม่จงใจ เป็นได้แก่ผู้ไม่
ปรารถนา เป็นได้แก่ผู้ไม่ตั้งใจ หรือ ?
ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ส. บุญเป็นได้แก่ผู้นึกถึง เป็นได้แก่ผู้กังวล เป็นได้แก่
ผู้สนใจ เป็นได้แก่ผู้ทำไว้ในใจ เป็นได้แก่ผู้จงใจ เป็นได้แก่ผู้ปรารถนา